มั่นใจได้เลยว่าไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับของ Nintendo หรือเกมเมอร์สายโหดทุกคนก็ต้องเคยได้ยินกิตติศัพท์ของซีรีส์ Mario Kart ที่จับตัวละครจากค่ายเกมอารมณ์ดีมาประชันความเร็วกันในสนามโกคาร์ทพร้อมด้วยไอเทมพิลึกกึกกือคอยปาใส่กันเป็นอุปสรรคระหว่างทาง ซึ่งนับตั้งแต่ยุค 16-bit มาจนถึงปัจจุบันก็ยอมรับเลยว่าเกมนี้มาไกลมากๆ จากที่มีเพียงสนามแข่งธรรมดา เมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นตามกาลเวลา ตัวเกมก็ย่อมอัปเกรดความเจ๋งระคนไปกับความโฉดด้วยเหมือนกัน
ในบทความนี้ จะพาทุกท่านมาเปิดกรุเกมเก่ากับซีรีส์เกมรถแข่งสุดฮานี้กันใหม่เพื่อย้อนรำลึกถึงความหลังวันวานเมื่อครั้งเรายังนั่งหน้าจอ CRT พร้อมกับแนะนำฟีเจอร์เจ๋งๆ ในเกมภาคหลักทั้งหมดให้ฟังกันเพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนที่เกมภาคต่อจะเปิดตัวกันในอนาคต แล้วแต่ละเกมจะมีจุดเด่นอะไรบ้างนั้น อย่ามัวแต่รอช้า เรามาเริ่มต้นที่ยุคซูเปอร์แฟมิคอมกันเลยดีกว่าครับ
1. Super Mario Kart
เริ่มต้นกันที่เกมภาคต้นตำรับที่กลายมาเป็นแม่แบบให้กับเกมแนวโกคาร์ทที่ใช้ไอเทมในการยิงใส่กัน โดยการเริ่มต้นพัฒนามาจากไอเดียการสร้างสรรค์เกมรถแข่งที่สามารถแบ่งจอเล่นด้วยกันได้ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีคุณ Shigeru Miyamoto บิดาแห่งซีรีส์ Super Mario ก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้มีตัวละครเกมดังเข้ามาอยู่ในโปรเจ็คนี้ กระทั่งหลายเดือนต่อมาได้เกิดปิ๊งไอเดียและพบว่าตัวละคร Mario นี่แหละโอเคที่สุด เลยปรับจูนมาเป็นซีรีส์มาริโอ้รถแข่งอย่างเต็มตัวในที่สุด
เสน่ห์ของเกมนี้นอกจากจะมีตัวละครของมาริโอ้มาร่วมกันลงสนามแล้ว ยังมีระบบกล่องไอเทมให้เราสุ่มรับของเพื่อช่วยเหลือระหว่างการแข่งขัน โดยจะมีทั้งไอเทมแกล้งคนอย่างกระดองเต่าที่สามารถพุ่งไปหาเราได้ กล้วยสำหรับปาลงพื้นให้คนขับมาล้อหมุนเล่นๆ ไปจนถึงเห็ดที่เอาสปีดตัวเอง และยังมีเหรียญตามทางให้เก็บเพื่อเพิ่มอัตราเร็วของเราเช่นกัน อ้อที่สำคัญตัวละครจะมีการแบ่งสเตตัสตามรูปร่าง เช่นเจ้าเห็ดที่อยู่ในเกณฑ์เบา หรือคุปป้าเป็นพวกตัวใหญ่ก็จะอยู่ในระดับเฮฟวี่เวท
สำหรับโหมดการเล่นจะแบ่งออกเป็นสองโหมดใหญ่คือโหมดกรังปรีซ์ที่ให้เราแข่งรถในสนามธีมมาริโอ้ตั้งแต่ทุ่งหญ้าธรรมดา บ้านผีสิง ไปจนถึงปราสาทคุปป้า พร้อมด้วยอุปสรรคตามฉากประหลาดๆ เช่นสะพานที่แตก แม่น้ำขวางทาง ตัวตุ่นที่เด้งดึ๋งขึ้นมา ทางลื่นแบบน้ำแข็งในทุ่งหิมะ ถัดมาที่โหมด Battle ที่เป็นหนึ่งในโหมดที่หลายคนชื่นชอบเพราะว่าเราจะไม่ได้แข่งในสนามวนลูป แต่เป็นสนามวงแคบที่ให้เราใช้ไอเทมซัดกับเพื่อนพร้อมกันสูงสุด 2 คน ใครโดนไอเทมยิงลูกโป่งจนหมดก่อนก็แพ้ไป หากมิตรภาพของใครยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีจากโหมดแข่งทั่วไป โหมดนี้แหละครับจะเป็นเครื่องวัดใจ
ในแง่กราฟิกเนื่องจาก Super Famicom ไม่ได้รองรับระบบกราฟิกแบบโพลิกอนแท้ Nintendo จึงใช้เทคนิคกราฟิกแบบ Mode 7 ที่เอียงภาพเลเยอร์ฉากหลังสองมิติให้ราบลงไปกับพื้นเหมือนเรามองรันเวย์จากกระจกเครื่องบิน แล้วให้ตัวละครสองมิติหมุนไปมาคล้ายกับการลวงตา ถือเป็นไอเดียที่ใช้งานได้จริงและไม่กินทรัพยากรเครื่องมากเท่าไหร่นัก
2. Mario Kart 64
มาถึงภาคสองก็ขอกระโดดอัปเกรดกราฟิกให้สมกับยุค 64-bit ด้วยเทคนิคสามมิติที่เนรมิตสนามแข่งขันของเราจากสองมิติพื้นราบเป็นโพลิกอนที่จับต้องได้ ผู้เล่นจะเห็นทัศนียภาพต่างๆ ที่โดดเด่นกว่าพื้นเท็กซ์เจอร์ราบๆ เช่นแม่น้ำที่เราสามารถตกลงไปได้จริง นกเพนกวิ้นเดินด๊อกแด๊กไปมา อุโมงค์รูปท่อสีเขียว หรือเหล่ารถบรรทุก รถยนต์ที่ขับรถอยู่ในเขตอุตสาหกรรมคอยขวางทางเรา
อย่างไรก็ตามแม้ว่าฉากต่างๆ เป็นภาพสามมิติแท้ แต่ตัวละครยังคงเป็นภาพสองมิติที่เราบังคับภาพของตัวละครให้หันซ้ายขวาเหมือนเดิม ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่พิกเซลอาร์ตแบบเดิมๆ เพราะเป็นสไปรต์แบบสามมิติที่ปรับให้เรียบลงไปเหมือนกระดาษ โดยที่มันสามารถปรับความมืด – สว่างตามพื้นที่ที่เราเข้าไปเช่นอยู่ใกล้ลาวาแล้วมีออร่าแดงๆ จึงดูเนียนดีไม่น่าห่วง ทั้งนี้เกมได้ตัดตัวละครออกไปสองตัวคือเจ้าจ๋อรุ่นจิ๋ว Donkey Kong Jr. กับเต่า Koopa Troopa และเพิ่ม Wario กับ Donkey Kong มาแทน
ความพิเศษของเกมภาคนี้ก็คือเนื่องจากเป็นการเข้าสู่สมรภูมิสามมิติอย่างเป็นทางการครั้งแรก เราจะเห็นการสาดไอเดียอย่างเต็มที่ ฉากต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาแบบใหญ่โต ยกตัวอย่างเช่นสนามแข่ง Royal Raceway ที่เราสามารถวิ่งข้ามแม่น้ำมาเจอกับปราสาทของเจ้าหญิงพีช หากคิดว่ามีเวลาก็สามารถขับเข้าไปสำรวจบริเวณโดยรอบได้เหมือนกับเกม Super Mario 64 เลยครับ นอกจากนี้ยังเป็นเกมภาคแรกที่รองรับระบบ Multiplayer เพิ่มขึ้นเป็น 4 คนพร้อมกัน เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นจากภาค Super Mario Kart ได้มีขาดกันอย่างรุนแรงขึ้นอีกระดับ (เฮ้ย!)
3. Mario Kart: Super Circuit
พัฒนาลงเครื่องเล่นเกมคอนโซลมาถึงสองภาคแล้วก็ถึงคราวที่เครื่องเล่นพกพาที่แรงที่สุดในขณะนั้นอย่าง GameBoy Advance จะได้เล่นเกมนี้กันบ้าง สำหรับภาคนี้สนามแข่งจะกลับมาเป็นกราฟิกคล้ายๆ กับภาคซูเปอร์แฟมิคอมอีกครั้งเพราะว่าข้อจำกัดด้านกราฟิกที่ไม่สามารถทำภาพสามมิติแท้ได้ ยกเว้นแต่สีสันที่ใสขึ้น และฉากก็แฟนตาซีมากกว่าเดิมมีสนามแข่งรถบนก้อนเมฆ เอฟเฟคฝน และหิมะที่สมจริง
ในส่วนของตัวละครได้มีการยกไลน์อัปจากเกม Mario Kart 64 มายกแผงและใช้สไปรต์คล้ายๆ กัน ระหว่างทางเองก็จะมีเหรียญมาให้เราเก็บระหว่างทางอีกครั้ง ทั้งนี้ที่น่าสนใจก็คือเราจะมีสนามแข่งขันถึง 5 Cups แบ่งออกถ้วยละ 4 สนามแข่ง แถมยังนำสนามแข่งจากภาคซูเปอร์แฟมิคอมกลับมารีเมคใหม่ครบทุกภาคด้วยกราฟิกแบบใหม่เช่นกัน รวมๆ แล้วเราจะมีสนามแข่งหลายสิบสนามให้เล่นวนไปกันยาวๆ
เมื่อเกมเป็นรูปแบบพกพาแล้วแบบนี้หลายคนก็คงสงสัยใช่ไหมครับว่าจะแบ่งจอเล่นกันได้อย่างไร ความพิเศษของเกมภาคนี้ (รวมไปถึงภาคพกพาที่กำลังจะกล่าวถึงในอนาคต) ก็คือการรองรับระบบ Single-pak Multiplayer ให้เจ้าของตลับสามารถแชร์เกมให้เจ้าของเครื่องเล่นเกมบอยเครื่องอื่นได้สูงสุด 4 คนพร้อมกัน โดยจะได้เล่นเป็นเจ้า Yoshi 4 สีในสนามทั้งหมด 4 สนาม ถึงแม้จะดูน้อยไปหน่อย แต่คอนเฟิร์มเลยว่าเล่นวนไปได้เป็นวันๆ
4. Mario Kart: Double Dash
กลับมาสู่เครื่องเล่นสามมิติอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ก็ถึงคิวของเครื่อง GameCube บ้างแล้วครับ โดยภาคนี้มีการเปิดตัวด้วยการเป็นเกมมาริโอ้รถแข่งธรรมดาก็จะยกระดับใหม่ให้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีภาคไหนทำตามอีกนั่นคือการเปลี่ยนจากหนึ่งผู้เล่นหนึ่งคนขับมาเป็น หนึ่งผู้เล่นสองคนขับแทน ระหว่างการเล่นจะมีหนึ่งตัวละครอยู่ที่พวงมาลัยในขณะที่อีกคนจะเกาะอยู่ข้างหลังรถ สามารถสลับไปมาได้ตลอดเวลา
เมื่อปรับระบบคนขับมาเป็นแบบดูโอ้แล้ว เทคนิคการเล่นของภาคนี้จึงมีความพิเศษกว่าภาคอื่นเพราะว่าเราจะสามารถถือไอเทมได้พร้อมกันสองชิ้น โดยกล่องปริศนาจะมีสองแบบคือกล่องเดี่ยวกับกล่องคู่ หากเราขับชนกล่องเดี่ยวตัวละครท้ายรถจะได้รับไอเทมไป ดังนั้นถ้าหากรอบตัวไม่มีกล่องคู่เหลือเราจะต้องสลับที่นั่งให้คนขับมารอเก็บไอเทมท้ายรถ เท่านั้นไม่พอตัวละครแต่ละตัว (คน) จะมีไอเทมแบบสเปเชียลแตกต่างกันเช่น Mario ที่เป็นลูกไฟ หรือ Yoshi ที่เป็นไข่ใบยักษ์ที่พุ่งไปชนรถคันอื่นแล้วจะแตกออกมาเป็นไอเทมสุ่มอีกทีหนึ่ง
ถัดมาที่ตัวละครได้เพิ่มมาเป็น 20 ชีวิตให้เราได้เลือกผสมผสานคอมบิเนชั่นตามใจชอบ และยังมีรถให้ปลดล็อคอีกมากมายหลายแบบทั้งรถแข่งทรงหัวรถจักรไอน้ำ, รถเข็นเด็ก ไปจนถึงรถหัวกระสุนที่ไม่ใช่ชินกันเซ็น แต่เป็นกระสุนจริงๆ ซึ่งแต่ละคันก็จะมีการแบ่งรายละเอียดยิบย่อยนอกเหนือจากน้ำหนักไปอีกคือความเร็ว หรืออัตราเร่งที่สามารถเช็คได้จากสัญลักษณ์รูปดาวระหว่างเลือกรถ อ้อ! ที่สำคัญที่สุดคือฟิสิกส์ของเกมนี้จะวายป่วงมากเป็นพิเศษ หากโดนไอเทมโจมตีหนักๆ คือพุ่งไปชนอุปสรรคชิ้นใหญ่ ตัวละครท้ายรถของเราอาจจะร่วงจากรถจนต้องเกาะพร้อมกรีดร้องอย่างเจ็บปวด จะสงสารก็สงสาร จะขำก็ขำ เหตุการณ์นี้อาจเกิดได้ในฉาก Baby Park ที่ให้เราวนลูปแบบ 7 แลปและมีกล่องไอเทมให้โยนกันอย่างสนุกมือ
อย่างที่เราได้ทราบกันข้างต้นแล้วว่าเกมภาคนี้มีเอกลักษณ์หาใดเหมือน ดังนั้นจึงมีฟีเจอร์ฮาๆ มากมายที่เพิ่มเข้ามาเริ่มต้นที่ระบบ Double Dash ตามชื่อภาค หากเราเล่นเกมแบบ Co-op (แบ่งผู้เล่นคนหนึ่งขับ อีกคนเกาะท้ายรถ) หากเรากดเร่งเครื่องพร้อมกันตรงจุดสตาร์ท รถจะพุ่งราวกับติดไนโตรระดับพระกาฬ เท่านั้นไม่พอในโหมดการเล่นปกติถ้าเราขับรถไปชนคู่ต่อสู้คนอื่นอาจจะคว้าไอเทมมาจากมือพวกเขาได้ด้วย ส่วนโหมด Battle ก็จะมีทั้งโหมดยิงลูกโป่งแบบคลาสสิก ไปจนถึงโหมดปาระเบิดที่เพิ่มเข้ามาคำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
5. Mario Kart DS
มาถึงเวลานี้ก็กลายเป็นซีรีส์ยอดนิยมที่ขาดไม่ได้แล้วครับ และเมื่อเครื่องเล่น Nintendo DS ที่มีความแรงและรองรับสามมิติได้แบบนี้ Mario Kart DS จึงนำประสบการณ์การเล่นเกมมาริโอ้รถแข่งแบบสามมิติมาสู่เครื่องเล่นเกมพกพาได้อย่างเต็มตัว โดยภาคนี้ก็มีตัวละครเริ่มต้นครบทั้งหมด และมีความลับมากมายให้เราได้ปลดล็อคกันทั้งสนามแข่ง, รถ และตัวละคร
เนื่องจากเครื่องเล่นเกม Nintendo DS มาพร้อมหน้าจอสองหน้าจอ ดังนั้นเกมจึงมีการแบ่งหน้าที่อย่างลงตัวโดยจอบนจะเป็นการแสดงผลตัวละครและสนามแข่ง ส่วนจอล่างจะเป็นแผนที่ที่เลือกปรับได้ว่าจะให้เป็นภาพแข่งเรียลไทม์จากมุมสูงไว้ดูว่ามีใครส่งไอเทมอะไรมา หรือจะเป็นแผนที่ปกติก็ได้ทั้งหมด แถมเรายังสามารถออกแบบตราสัญลักษณ์ผ่านจอสัมผัสด้านล่างไว้ใช้แปะบนรถแข่งแทนไอคอนตัวละครได้
คอนเทนต์ในเกมเองก็ถือเป็นจุดแข็งเพราะว่า Mario Kart DS มีตัวละคร และรถมากมายให้ปลดล็อคไว้ใช้งาน รถจะมีการแบ่งสเตตัสที่ละเอียดกว่าเดิมเช่นการเกาะถนน, ความลื่นไหลในการเข้าโค้ง ไปจนถึงเทคนิคการดริฟต์และโอกาสที่เราจะโชคดีได้รับไอเทม นอกจากนี้ยังมีโหมด Mission ที่เป็นภารกิจแปลกๆ ฉีกแนวจากการเล่นแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการขับรถแข่งกับหนอน Wiggler ที่ขี้โกงออกวิ่งตั้งแต่ยังไม่สตาร์ท ตบกับบอสต่างๆ เกือบลืมไปเลย! นอกจากสนามแข่งใหม่ 16 สนามแล้ว เกมยังมีสนามแข่งเก่าที่เรียกว่าเป็น Retro Cup อีก 16 สนาม โดยเป็นการนำสนามแข่งจากภาคก่อนหน้ามาให้เล่นอีกครั้ง ทำให้เราได้เห็นฉากสนามแข่งจากยุคซูเปอร์แฟมิคอมในแบบสามมิติเป็นครั้งแรก
ฟีเจอร์สำคัญที่มาถึงในภาคนี้และใส่มาเป็นมาตรฐานใหม่ตลอดก็คงหนีไม่พ้นระบบการเล่นแบบออนไลน์ ทำให้ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องเรียกเพื่อนๆ มานั่งสุมหัวกันที่บ้านอีกต่อไป แค่ทำการแลก Friend Code ที่เป็นรหัสออนไลน์ประจำตัวให้กันและกันก็พร้อมสตาร์ทเครื่องกันแล้ว ส่วนเด็กนักเรียนหรือพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่พก Nintendo DS ติดตัวอยู่แล้ว ก็สามารถเล่นเกมผ่านระบบไวเลสของเครื่องได้เหมือนกัน
6. Mario Kart Wii
หากจะกล่าวว่าเป็นยุคทองของ Nintendo ที่ไม่ว่าจะหยิบจับตลาดไหนก็ปังปุริเย่ไปหมดทั้งสายคอนโซลและสายพกพาก็คงไม่ฟังดูเวอร์เกินไป โดยปี 2008 ได้มีการเปิดวางขายเกมภาคต่อของซีรีส์มาริโอ้รถแข่งบนเครื่องเล่น Wii อย่างเป็นทางการ ซึ่งตัวเกมก็มีจุดชูโรงเป็นการสนับสนุนการเล่นด้วย Wiimote จอยเกมทรงรีโมตเราสามารถจับแนวขวางให้เหมือนกับพวงมาลัยได้ และยังเปิดตัวอุปกรณ์เสริมเป็นกรอบจอย Wii Wheel ที่เป็นทรงเดียวกับพวงมาลัยด้วย
ระบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในเกมภาคนี้คือการทำ Trick ที่ให้เราเข้าจอยเวลาขึ้นสู่เนินสูงๆ แล้วตัวละครจะมีอนิเมชั่นเท่ๆ ราวกับสตันท์แมนออกมาพร้อมรับสปีดบูสต์เป็นเวลาสั้นๆ ถือเป็นเทคนิคใหม่ที่เข้ามามีบทบาท เช่นเดียวกับประเภทรถแบบใหม่คือมอเตอร์ไซค์ และยังสร้างตัวละคร Mii แทนตัวเรามาเป็นนักแข่งได้เหมือนกัน ความเจ๋งก็คือภาคนี้ยังเป็นภาคแรกที่รองรับผู้เข้าแข่งขันในสนามจาก 8 คนเป็น 12 คน เห็นแบบนี้ต้องบอกเลยว่าปั่นป่วนยิ่งกว่าเดิมเยอะ โดยเฉพาะในโหมดออนไลน์ที่เปิดให้เเราลงแรงค์กันอย่างสนุกสนานหลายปีจนเพิ่งปิดเซิร์ฟเวอร์เมื่อไม่นานนี้เอง
ความพิเศษสำหรับภาคนี้ก็คือเมื่อเครื่อง Wii มีการออกแบบเมนูหลักเหมือนกับช่องโทรทัศน์แล้ว เกมจึงมีแอปเสริมติดตั้งในชื่อ ‘Mario Kart Channel’ เอาไว้ให้เราได้ติดตามผลทัวร์นาเมนต์ หรือรับส่งข้อมูล Ghost Data ที่เป็นข้อมูลสถิติการแข่งทำเวลาขึ้นสู่ระบบออนไลน์ได้เช่นกัน มีระบบต่างๆ รองรับครบครันแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ Mario Kart Wii จะเป็นหนึ่งในเกมมาริโอ้รถแข่งที่ขายดีที่สุดตลอดกาล
7. Mario Kart 7
ในช่วงเวลาที่ Nintendo 3DS เครื่องเล่นเกมสามมิติทะลุจอต้องเจอปัญหาขายไม่ออกเนื่องจากราคาสูงเกินไปจนกระทั่งต้องลดราคา อีกหนึ่งเกมที่เป็นกำลังสำคัญในการพลิกสถานการณ์ก็คือ Mario Kart 7 นั่นแหละ เกมนี้มาพร้อมการรองรับการแสดงผลแบบ Stereoscopic 3D ที่ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ลอยมาจากหน้าจอจริงๆ เช่นเดียวกับโหมด First-person และระบบโมชั่นเซนเซอร์แบบ Wii แต่ฟีเจอร์เสริมนี้ก็เป็นแค่ส่วนน้อย เพราะเอกลักษณ์จริงๆ มันอยู่ต่อจากนี้!
Mario Kart 7 นำเสนอระบบการปรับแต่งรถแบบใหม่ที่เปลี่ยนจากการเลือกยานพาหนะธรรมดา มาเป็นการ Mix and match ชิ้นส่วนตั้งแต่ ตัวรถ, ล้อ และเครื่องร่อน… ใช่ครับ! ภาคนี้มาพร้อมกับสนามแข่งขันที่อลังการกว่าที่เคยเพราะ Mario และผองเพื่อนจะได้ตะลุยเซอร์กิตชนิดที่ว่าบุกป่า, ฝ่าดง, ลอยฟ้า และ ลงไปดำน้ำใต้ทะเล กลายเป็นแบบแผนใหม่ที่นำไปใช้ในภาคต่อไป แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านการประมวลผลจึงต้องลดผู้เล่นกลับมาที่ 8 คน ทั้งนี้ก็เป็นการแลกเปลี่ยนที่สมเหตุสมผลและคุ้มค่า
สิ่งที่น่าสนใจก็คือระบบการวิ่งเก็บเหรียญได้กลับมาอีกครั้งในภาคนี้ แต่จะไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มอัตราเร็วของรถเราเท่านั้นเนื่องจากมันจะเป็นส่วนสำคัญในการปลดล็อคชิ้นส่วนรถด้วย ดังนั้นถ้าหากใครอยากจะเก็บไอเทมเครื่องประดับให้ครบก็ต้องวิ่งเก็บเหรียญกันอย่างสนุกสนาน ส่วนไอเทมพิเศษของเกมนี้จะมีชื่อว่า Lucky 7 ที่ทำให้เราได้ไอเทมทั้ง 7 อย่างมาใช้พร้อมกันนั่นเอง
8. Mario Kart 8 / Mario Kart 8 Deluxe
เข้าสู่สมรภูมิ HD กับเขาบ้างบนเครื่องเล่น Wii U โดยภาคนี้ยังคงคอนเซปต์การวิ่งวิบากไว้เหมือนเดิม แต่เพิ่มฟังก์ชั่นการต้านแรงโน้มถ่วงเข้าไปด้วย ในสนามจะมีบางจุดที่เปลี่ยนให้ล้อรถของเราหักขึ้นมาเป็นเหมือนรถบั๊มพ์ลอยฟ้าและชนกันเพื่อรับบูสต์ได้ ซึ่งการวิ่งต้านแรงโน้มถ่วงนี้ก็มีเส้นทางหลากหลายแบบเลยทั้งกลับหัวกลับหาง วิ่งขึ้นกำแพง ไปจนถึงการวิ่งไต่น้ำตก และนอกเหนือจากรถโกคาร์ทกับมอเตอร์ไซค์ ยังเพิ่มรถ ATV พร้อมกับการจับมือร่วมกับแบรนด์ดัง Mercedez Benz ในการเปิดตัวชิ้นส่วนรถเท่ๆ ให้เลือกใช้กัน
สำหรับเกม Mario Kart 8 ในเวอร์ชั่นต้นฉบับจะมีการรองรับการอัปโหลดภาพขึ้นสู่ YouTube เป็นคลิปสั้นๆ เช่นเดียวกับการรองรับ DLC เพิ่มเติมให้เราได้ปลดล็อคตัวละครใหม่ๆ อย่าง Link หรือ Isabelle จากเกมอื่นในเครือ Nintendo และมีสนามแข่งรถจากเกมเพิ่มเติมให้เลือกซื้อกัน ช่วยเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ให้กับเกมจนรวมแล้วในสนามแข่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง 48 สนาม ส่วนใครที่มี Amiibo ก็สามารถสแกนเพื่อรับชุดตัวละครใหม่สำหรับ Mii ได้อีกต่างหาก ไม่ต้องสวมแค่ชุดนักขับรถสปอร์ตอีกต่อไป
จะเห็นได้ว่าเกมมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามามากมายเช่นเดียวกับตัวเลือกความเร็ว 200cc ทว่าในโหมด Battle ที่เคยเป็นสนามแบบปิดกลับเปลี่ยนรูปแบบใหม่จนมีคนแซวไปอยู่บ้างไม่น้อยเพราะว่ารอบนี้พี่แกยกสนามแข่งแบบปกติมาใช้ในโหมดนี้เลย ซึ่งการวิ่งไล่ยิงลูกโป่งกันในสนามประเภทนี้ก็ทำให้ดูแหม่งๆ และแปลกตาไปนิด แต่ถ้าใครมี Wii U และยังเข้าไปออนไลน์ได้อยู่จะพบว่ายังคงมีคนแวะเวียนเสมอ แถมห้องเต็มแทบทุกครั้ง
ปิดท้ายด้วย Mario Kart 8 Deluxe เกมยอดนิยมสำหรับฝั่ง Nintendo Switch ที่พอร์ตมาพร้อมเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ๆ โดยเวอร์ชั่นนี้มีการรวบรวม DLC สนามแข่งครบทั้งหมดให้เราเล่นตั้งแต่แกะกล่อง แถมยังเพิ่มตัวละครใหม่เช่น Inkling จากเกม Splatoon หรือ King Boo ที่กลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับการรีเทิร์นของโหมด Battle แบบต้นฉบับที่เป็นสนามปิด และระบบถือไอเทมสองชิ้นจากภาค Double Dash จนถือเป็นเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบที่สุด
จุดเด่นของเวอร์ชั่นนี้ก็คือโหมดการเล่นแบบ Battle ที่ได้รับความสำคัญแบบเต็มพิกัด เพราะเราจะไม่ได้มีแค่โหมดยิงลูกโป่งธรรมดา แต่ยังนำโหมดฮาๆ จากภาคก่อนกลับมาเช่นโหมดปาระเบิด, โหมดวิ่งเก็บเหรียญ และ Shine Thief ที่เป็นเหมือนกับการเล่นลิงชิงบอลแต่ให้เราชิงสัญลักษณ์ดวงอาทิตย์มาเป็นของตัวเองให้นานที่สุด และโหมด Renegade Roundup หรือโปลิสจับขโมยที่แบ่งผู้เล่นเป็นสองทีมให้ทีมตำรวจมาไล่จับโจร ส่วนโจรต้องวิ่งช่วยเพื่อนตัวเองจากกรง และ… ทุกโหมดออนไลน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ!
ทั้งหมดนี้ก็คือเกม Mario Kart บนแพลตฟอร์มหลักทั้ง 8 ภาคที่พาให้เราตื่นเต้นว่าในเกมภาคที่เก้าจะมีความก้าวหน้าหรือไอเดียเจ๋งๆ อะไรมาใส่ให้เราได้ตื่นเต้นกันอีก แล้วเพื่อนๆ ละครับ ชื่นชอบเกมภาคไหนกันก็อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันที่ช่องคอมเมนต์กันได้ครับ
Mario Kart Nintendo